วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

การพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจโดยใช้นิทานอีสป



  บทที่  1
บทนำ


ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
           
ในยุคปัจจุบัน เป็นยุคสังคมข้อมูลข่าวสาร  เทคโนโลยี ซึ่งมีความเคลื่อนไหว และการ
เปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอย่างรวดเร็ว การใช้ภาษาต่างประเทศจึงเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งในการติดต่อสื่อสาร การหาข้อมูลความรู้ ถ่ายทอดวิทยาการต่าง ๆ รวมทั้งการเจรจาต่อรองด้านการค้า และการประกอบอาชีพ การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ จึงช่วยสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างชนชาติไทยและชนชาติอื่น เพราะทำให้มีความเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละเชื้อชาติ สามารถปฏิบัติต่อกันได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและสามารถถ่ายทอดวัฒนธรรมไปสู่สังคมโลก (กรมวิชาการ, 2545: 1)
                  จากความสำคัญของภาษาต่างประเทศ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551 ได้กำหนดให้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  เป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้พื้นฐานหนึ่งใน 8  กลุ่ม ที่เสริมสร้างพื้นฐานความเป็นมนุษย์ และสร้างศักยภาพในการคิดและการทำงานอย่างสร้างสรรค์โครงสร้างของหลักสูตรภาษาต่างประเทศ กำหนดตามระดับความสามารถทางภาษาและพัฒนาการของผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยจัดแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ระดับเตรียมความพร้อม (Preparatory Level) ในช่วงชั้น
ที่ 1 (ป.1- 3)  ระดับต้น (Beginner Level) ในช่วงชั้นที่ 2 (ป.46) ระดับกำลังพัฒนา(Development Level) ในช่วงชั้นที่ 3 ( ม.1-3)  และระดับก้าวหน้า (Expanding Level) ช่วงชั้นที่ 4 (ม.46) (กระทรวงศึกษาธิการ, 2548: 2)
                การเรียนภาษาต่างประเทศแตกต่างจากสาระการเรียนสาระการเรียนรู้อื่น  เนื่องจากผู้เรียนไม่ได้เรียนภาษาเพื่อความรู้เกี่ยวกับภาษาเท่านั้น  แต่เรียนภาษาเพื่อให้สามารถให้ภาษาเป็นเครื่องมือในการติดต่อกับผู้อื่นได้ตามความต้องการในสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งในชีวิตประจำวัน และการอาชีพ  การที่ผู้เรียนจะใช้ภาษาได้ถูกต้องคล่องแคล่วและเหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับทักษะการใช้ภาษา  ดังนั้นการเรียนภาษาที่ดี  ผู้เรียนจะต้องมีโอกาสฝึกฝนทักษะการใช้ภาษาให้มากที่สุดทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน
การจัดกระบวนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับธรรมชาติ  และลักษณะเฉพาะของการเรียนภาษาจึงควรประกอบด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย  ทั้งกิจกรรมการฝึกทักษะทางภาษา  และกิจกรรมการฝึกผู้เรียนให้เรียนรู้วิธีการเรียนภาษาด้วยตนเองควบคู่ไปด้วยซึ่งจะนำไปสู่การเป็นผู้เรียนที่พึ่งตนเองได้
(Learner - independence)และสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต (Lifelong learning)ทั้งด้านภาษาต่างประเทศและใช้ภาษาต่างประเทศเป็นเครื่องมือในการค้นคว้าประการหนึ่งของการปฏิรูปการเรียนรู้
                การจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ  ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานมีความคาดหวังว่า  เมื่อผู้เรียนภาษาต่างประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาผู้เรียนจะมีเจตคติที่ดีต่อภาษาต่างประเทศ  สามารถใช้ภาษาต่างประเทศสื่อสารในสถานการณ์ต่าง ๆ แสวงหาความรู้  ประกอบอาชีพ  และศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น  รวมทั้งมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวและวัฒนธรรมอันหลากหลายของประชาคมโลก  และสามารถถ่ายทอดความคิดและวัฒนธรรมไทยไปยังสังคมโลกได้อย่างสร้างสรรค์ (ชมรมกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2544 : 2)
                ในยุคโลกาภิวัฒน์ซึ่งเป็นยุคข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี  ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลในการสื่อสารระหว่างมวลมนุษย์  การที่คนในชาติมีความรู้  ความสามารถในภาษาที่เป็นภาษาสากลย่อมส่งผลต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. 2541 : 6)
                กระทรวงศึกษาธิการได้ตระหนักถึงปัญหา  การพัฒนาความสามารถทางภาษาอังกฤษของคนไทย  และมีความพยายามที่จะปรับปรุงให้มีการสอนภาษาอังกฤษตลอดแนวจากระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา  เพื่อที่จะพัฒนาให้ผู้เรียน  มีสมรรถนะทางภาษาอังกฤษ  ในระดับที่สามารถติดต่อสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้  สามารถที่จะมีความรู้  ความเข้าใจสานสนเทศต่าง ๆที่มีอยู่ได้อย่างดี  กล่าวคือรู้พอที่จะเลือกสารสนเทศต่าง ๆ มาก่อให้เกิดประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้  ความคิดของคนในโลกได้  อันนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ดังนั้นการที่จะให้บรรลุเป้าหมายจะเป็นไปได้ยากหากยังใช้หลักสูตรภาษาอังกฤษเดิม ซึ่งการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมิได้เป็นวิชาพื้นฐานในระดับประถมศึกษา  ผู้ที่เริ่มเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา ความแตกต่างในการจัดหลักสูตรเดิม ทำให้เกดความแตกต่างในการจัดการเรียนการสอนและมาตรฐานของนักเรียน  ตลอดจนโอกาสของการที่จะพัฒนาสมรรถภาพทางภาษาอังกฤษในการออกไปประกอบอาชีพ  และในการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น (สุดาพร  ลักษณิยนาวิน. 2540 : 1-11)

               
                ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นภาษาสากลที่มีผู้นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นซึ่งกันและกัน  ตลอดจนเป็นเครื่องมือในการเสาะแสวงหาความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับประเทศที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ หรือในสภาพแวดล้อมที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาพูดนั้น  ทักษะที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง คือ การอ่าน ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องมือเพิ่มเติมในการติดต่อสื่อสาร การแสวงหาความรู้  และการประกอบอาชีพ
(สุมิตรา อังวัฒนกุล. 2539 : 57) เพราะนอกจากการอ่านจะพัฒนาบุคคล และสังคมให้บุคคลมีความคิดสร้างสรรค์ช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ และก่อให้เกิดความเพลิดเพลินในยางว่างแล้ว ในด้านการใช้ประโยชน์ ทักษะการอ่านจะเป็นทักษะที่ผู้เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศมีโอกาสได้ใช้มากหลังจากจบการศึกษาไปแล้ว ส่วนทักษะอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูด การฟัง การเขียนนั้นจะมีโอกาสได้ใช้น้อยมาก และอาจลืมไปได้ในที่สุด (Allen &Valette. 1979 : 281-289)
                การอ่านเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ ซึ่งถือว่าเป็นภาษาต่างประเทศที่เป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่ก่อให้เกิดแนวทางการเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่การเมือง การค้าและเศรษฐกิจ ซึ่งภาษาอังกฤษได้ปรากฏในสื่อต่าง ๆ ของชีวิตประจำวันของคนไทยไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ ป้ายชื่อถนน ป้ายโฆษณา แบบฟอร์มราชการ สลากยา การ์ตูน เป็นต้น ยุคข่าวสารข้อมูล
คนที่สามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ดีกว่าย่อมสืบค้นและพัฒนาทุกด้านได้มากกว่านั้นหมายความว่า การศึกษาหาความรู้ เพื่อประกอบอาชีพในอนาคตย่อมมีแนวโน้มที่ดีกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเริ่มต้นพัฒนาทักษะ การอ่านภาษาอังกฤษตั้งแต่เยาว์ จึงถือได้ว่าวิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาที่ต้องพัฒนาทักษะการอ่านควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิต จึงจะทำให้การเรียนรู้ และการดำเนินชีวิตประสบผลสำเร็จสูงสุด
                ทักษะการอ่านนั้น เป็นทักษะที่ต้องใช้กันมากในชีวิตประจำวัน นักเรียนมักอ่านแล้วไม่เข้าใจ และจับใจความเรื่องที่อ่านไม่ได้เกิดความเบื่อหน่าย และไม่รักการอ่าน ทำให้ความสามารถในการอ่านของนักเรียนต่ำ จึงเป็นหน้าที่ของครูผู้สอน และผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการศึกษาที่จะต้องช่วยกันแก้ปัญหาดังกล่าวปัญหาการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรให้ความสนใจแก้ไขอย่างจริงจังโดยเฉพาะครูผู้สอนจำเป็นต้องเร่งขวนขวายศึกษาเทคนิคต่าง ๆ เพื่อนำมาพัฒนาการสอนอ่านให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ้งเป็นแนวทางหนึ่งที่ผู้วิจัยเห็นสมควรนำมาใช้ในการสอนเพื่อพัฒนาความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษให้ได้ผลดีขึ้น คือการนำนิทานมาใช้เป็นสื่อในการสอนภาษาอังกฤษโดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่สนุกสนานเร้าความสนใจ เป็นกิจกรรมที่นักเรียนชื่นชอบ  มีความสนุกสนานและเร้าความสนใจแก่นักเรียนอย่างหนึ่ง(สุมณฑา ตันเจริญ. 2533 : 1-3)
                โรงเรียนบ้านนาทับไฮ  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย  เขต  2   เป็นโรงเรียนประถมขนาดเล็ก มีนักเรียนทั้งหมดจำนวน 105  คน  เปิดสอนในระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1
จนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  ประจำปีการศึกษา 2553มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 60 และในปีการศึกษา 2554มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 60 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์เมื่อเกณฑ์ของโรงเรียน โดยเฉพาะผลการประเมินการอ่านภาษาอังกฤษมีคะแนนต่ำกว่าเฉลี่ยร้อยละ 45 (งานวิชาการโรงเรียน,2554)
                จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษของผู้เรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่  4 โรงเรียนบ้านนาทับไฮ อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนดโดยเฉพาะ
ทักษะการอ่าซึ่งเป็นทักษะสำคัญและเป็นพื้นฐานของการพัฒนาทักษะอื่น ๆ ดังนั้นผู้วิจัยเห็นว่า หากไม่แก้ไขปัญหานี้ อาจส่งผลให้ผู้เรียนไม่พัฒนาความสามารถด้านการอ่านภาษาอังกฤษ ซึงเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ความสามารถด้านการอ่านภาษาอังกฤษต่ำนั้น อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนไม่น่าสนใจเท่าที่ควร หรืออาจใช้วิธีการสอนไม่หลากหลาย ทำให้ไม่เร้าความสนใจของผู้เรียน และจากประสบการณ์ของผู้สอนภาษาอังกฤษ พบว่าผู้เรียนมีพื้นฐานทางภาษาอังกฤษแตกต่างกัน หรือมีความสามารถในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแตกต่างกัน จึงส่งผลให้การจัดกิจกรรมการสอนอ่านไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรและทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านต่ำ
                จากสภาพปัญหาดังกล่าว ทำให้ผู้วิจัยสนใจจะพัฒนาความสามารถด้านการอ่านเพื่อความเข้าใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยใช้นิทาน ซึ่งการนำนิทานมาใช้ในการจัดกิจกรรมการสอนนั้นจะช่วยเร้าความสนใจของผู้เรียนและเกิดการพัฒนาทักษะการอ่านของนักเรียนดีขึ้นนั้น การทำวิจัยในครั้งนี้ผู้วิจัยต้องการทราบว่าการใช้นิทานในการจัดกิจกรรมการสอนนั้นสามารถพัฒนาความสามารถด้านการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจของนักเรียนได้หรือไม่

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

                การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้ตั้งวัตถุประสงค์ของการวิจัยไว้ดังนี้
                1.  เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความสามารถด้านการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  ที่เรียนโดยใช้นิทานก่อนเรียนและหลังเรียน
                2.  เพื่อศึกษาเจตคติของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  4  ที่มีต่อการสอนการอ่านเพื่อความเข้าใจโดยใช้นิทาน
สมมติฐานของการวิจัย
               
                นักเรียนที่ได้รับการสอนภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจโดยใช้นิทานมีความสามารถด้านการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน

ขอบเขตของการวิจัย

                การทำวิจัยครั้งนี้ มีขอบเขตของการวิจัย ดังนี้ 
                1. ประชากร
                    ประชากร  คือ  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  เครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษาเปงจานนคร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย  เขต  2  ภาคเรียนที่  1  ปีการศึกษา  2556
จำนวน  250  คน
                2.  ตัวแปรที่ศึกษา
                     2.1  ตัวแปรต้น  ได้แก่  การสอนภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจโดยใช้นิทานอีสป
                     2.2  ตัวแปรตาม  ได้แก่
                            2.2.1  ความสามารถด้านการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ
                            2.2.2  เจตคติต่อการสอนอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจโดยใช้นิทานอีสป
                3.   เนื้อหาที่ใช้ในการทดลอง
                     ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้คัดเลือกเนื้อหา บทอ่านที่ใช้ในการศึกษาเป็นเนื้อหาที่น่าสนใจ และเหมาะสมกับระดับความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษของผู้เรียนซึ่งผู้วิจัยที่ได้คัดเลือกเนื้อหามากจากหนังสือหลายเล่มหนังสือนิทานอีสป นำมาจัดทำเป็นแผนการเรียนรู้  ที่สอดคล้องกับการสอนอ่านเพื่อความเข้าใจ โดยใช้นิทาน และสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551  กลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ)  จำนวน  12  เรื่อง มีจำนวน  12  แผน
แผนละ  2  ชั่วโมง รวมทั้งหมด  24  ชั่วโมง
4.  ระยะเวลาที่ใช้ในการทดลอง
                     การวิจัยครั้งนี้ใช้เวลาในการทดลองทั้งสิ้น  24  ชั่วโมง  สัปดาห์ละ  2  ชั่วโมง
รวม  12  สัปดาห์ ในภาคเรียนที่  1  ปีการศึกษา  2556

นิยามศัพท์เฉพาะ
               
ในการวิจัยครั้งนี้  ผู้วิจัยได้นิยามศัพท์เฉพาะไว้  ดังนี้
1.  การสอนโดยใช้นิทานอีสป คือ การจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษโดยนำบทนิทานอีสปเป็นกิจกรรมหลักในบทเรียน
2.  ความสามารถด้านการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ  หมายถึง  ความสามารถของนักเรียนในการแปลความ ตีความ วิเคราะห์ความและสรุปความจากเรื่องที่อ่านซึ่งประเมินค่าจากคะแนนที่ได้  จากแบบาดสอบวัดความสามารถด้านการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจของนักเรียน
ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น
                3.  เจตคติต่อการสอนอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ โดยใช้นิทาน  หมายถึง  ความรู้สึกชอบ
หรือไม่ชอบ  พอใจหรือไม่พอใจ  ความรู้สึกด้านบวก  ด้านลบหรือเป็นกลางของนักเรียน ที่มีต่อการสอนภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ โดยใช้นิทาน ซึ่งวัดจากแบบวัดเจตคติ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น

ประโยชน์ที่จะได้รับ

                1.  ได้พัฒนาความสามารถด้านการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาที่  4  โรงเรียนบ้านนาทับไฮ  ที่ได้รับการสอนโดยใช้นิทานอีสป
                2.  ทำให้ทราบเจตคติของนักเรียนต่อการสอนอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจหลังจากได้รับการสอนโดยใช้นิทานอีสป
                3.  ได้แผนการจัดการเรียนเรียนรู้การสอนอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจโดยใช้นิทานอีสป
                4.  เป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนที่สนใจในการพัฒนาการสอนอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจโดยใช้นิทานอีสป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น